เรื่องเล่า V-Cafe เราเกิดที่นี้ ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ
Born to be here, Raise to be here
V Café by Voonsentharua by Praew
“เราเกิดที่นี่ ทำงานที่นี่มาตั้งแต่เด็ก เลยไม่ได้มีความคิดที่จะทำอย่างอื่นเลยแม้แต่น้อย”
เหล่าภูเขา หยึกหยักไม่ได้รูปทรงเหมือนวาดไม่เสร็จปรากฏขึ้นแก่สายตา ท่ามกลางสีเขียวขจีของไร่อ้อยนับหมื่นๆไร่ แถมท้ายด้วยแถวรถบรรทุกอ้อยหัวฟูที่ส่งเส้นสายปลิวฟุ้งเต็มถนน บอกเราให้รู้ว่าเดินทางมาถึงตัวเมืองกาญจนบุรีแล้ว หากแต่เป้าหมายของเราวันนี้ไม่ได้อยู่ในตัวเมือง แต่เป็นศูนย์ขายของฝากที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของจังหวัด “ศูนย์จำหน่ายอาหารของฝากโรงงานวุ้นเส้นท่าเรือ(ตราสิงห์โต)” ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 18 กม
ชื่อเสียงที่โด่งดังมายาวนาน ถึงแม้ว่าจะถูกกระแสสังคมพัดหายไปบ้างตามกาลเวลา แต่กระนั้น โรงงานวุ้นเส้นท่าเรือก็ยังคงเป็นชื่อติดหูและของฝากจากกาญจนบุรีก็ยังคงเป็นวุ้นเส้นและ “ซ่าหริ่มชาววัง” ที่มีดีด้านรสชาติและอายุการเก็บ ที่สามารถเก็บได้นอกตู้เย็นหลายวันโดยไม่เสีย แม้จะไม่ใส่สารกันบูดใดๆ
เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวนั้นเป็นของตระกูลอิสระกาญจน์กุล ซึ่งกำลังส่งต่อธุรกิจให้แก่ทายาทรุ่นที่ 3 เป็นผู้รับไม้ต่อในวันนี้ มีมุมมองแนวคิดการปลูกฝังในครอบครัวที่ไม่เหมือนใคร และผลลัพธ์ที่ออกมา ก็เริ่มเบ่งบานออกดอกมาให้ได้ชมกัน
“มาสัมภาษณ์เราจะได้เรื่องมั๊ยน๊อ” แพรว น้องคนเล็กแห่งศูนย์ของฝากฯ พิมพ์เมสเสสตอบมาแบบนั้นเมื่อถูกขอสัมภาษณ์
“ไม่เป็นไรๆ เหมือนนั่งเม้าส์ไป กินขนมยามบ่ายไป ธรรมดาๆ”
นั่นก็เลยเป็นที่มาของเค้กช็อคโกแลตฝีมือเจ้าของร้านที่เนื้อนุ่ม รสชาติละมุน และกำลังไหลลงคออย่างต่อเนื่อง non-stop อยู่ตอนนี้
“ทำไมถึงกลับมาทำงานที่บ้าน?”
คำถามเดิม คำถามเดียว ที่ใช้ได้ผลเสมอ และเรื่องราวต่างๆก็พรั่งพรูออกมา ถึงแม้ว่าจะมีช่วงลุกไปเก็บเงินจากลูกค้าบ้างเป็นระยะ แต่มุมมองต่างๆนั้นน่าสนใจมากทีเดียว
“ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ มีกันอยู่สองพี่น้อง ทั้งครอบครัวก็มีอยู่ 4 คน มีกันเท่านี้ ก็ต้องช่วยกันทำสิ”
แพรวเล่าว่า คุณพ่อปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก ตั้งแต่เล็กจำความได้ก็ช่วยกันทำงานแบบนี้ ช่วยกันขายของแบบนี้ คุ้นเคยกับบรรยากาศแบบนี้ บ้านก็อยู่ข้างหลัง วันหยุด หลังเลิกเรียน ตลอดเวลาก็ช่วยพ่อกับแม่ทำมาตลอด ทำจนเป็นนิสัย ทำจนเป็นกิจวัตร จนเป็นอะไรที่เคยชิน จนกลายเป็นความชอบ จนมาถึงวันนี้ที่ทุกอย่างอยู่ในความดูแลของสองพี่น้อง ซึ่งหากนับในตระกูลวุ้นเส้นท่าเรือนั้น นับได้ว่าเป็นรุ่นที่ 3 แต่สำหรับศูนย์ของฝากฯที่คุณพ่อก่อตั้งขึ้นมานั้น ก็นับเป็นรุ่นที่ 2 รุ่นของความเปลี่ยนแปลง...
“แล้วมี passion อย่างอื่นมั้ย?”
“โห ตอบยากเลย นึกไม่ออกเลย เราเกิดที่นี่ โตที่นี่ ก็คิดมาตลอดว่าต้องกลับมาช่วยทำต่อ อ้อ...ตอนเด็กๆก็มีช่วงนึงที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส เพราะอยากเที่ยว แต่ก็รู้สึกว่าเสี่ยง ต้องเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงตลอดเวลาทำไม พอคิดอย่างนั้นแล้วก็เลยกลับมาทำงานที่บ้าน ช่วยพ่อกับแม่ดีกว่า”
คุณพ่อของแพรว (ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งตระกูลอิสระกาญจน์กุล) ได้มาเริ่มกิจการศูนย์ของฝากฯต่อยอดจากโรงงานวุ้นเส้นท่าเรือทั้ง 3 แห่ง ซึ่งมีพี่น้องคนอื่นดูแล ให้ที่นี่เป็นศูนย์กระจายสินค้า เป็นหน้าร้านของครอบครัว และปลูกฝังให้ลูกๆ หายใจเข้าหายใจออกเป็นวุ้นเส้นได้อย่างสมบูรณ์ นี่คือจุดที่น่าสนใจของครอบครัวนี้
“เราเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีแต่ครอบครัวจริงๆ คือทำงานกัน 4 คน ไม่มีหุ้นส่วน ไม่มีผู้ถือหุ้น ไม่มีเสมียน ไม่มีบัญชี ทำกันเองคือทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่ร้านเปิดยันร้านปิด ซ่าหริ่มทุกหม้อ ขนมทุกถาด ต้องมีพวกเราคนใดคนหนึ่งชิม และอย่างน้อยต้องมีคนใดคนหนึ่งอยู่ร้านตลอดเวลา”
“แสดงว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า การทำธุรกิจที่ดี คือเราไม่ต้องอยู่ตลอด ธุรกิจต้องสามารถดำเนินต่อไปได้เองโดยไม่เสียหายมากนัก?”
“ก็ไม่เชิง ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆก็อาจจะทำได้ แต่การขายของหน้าร้านและร้านกาแฟ ร้านอาหารแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะพนักงานต้องรับมือกับลูกค้าตลอด แล้วช่วงวันหยุดยาวอะไรแบบนี้ลูกค้าเข้าทีก็มาเป็นรถทัวร์ ความหลากหลายสูง แถมพนักงานก็มาจากหลากหลายพื้นฐาน ก็ต้องมานั่งสอนกันว่า คุยกับลูกค้าต้องใช้โทนเสียงนี้นะ ต้องนอบน้อมแบบนี้นะ คือถ้ามีพนักงานแค่คนเดียวเท่านั้นเหวี่ยงใส่ลูกค้า แค่คนเดียว ชื่อเสียงร้านไปหมดเลย และด้วยความที่เราก็ไม่ได้ลงระบบอะไรจริงจัง จุดรั่วมันก็มีอยู่เยอะ ถ้าไม่ได้อยู่เอง สงสัยจะมีรั่วไหลเยอะแน่ๆ”
“พอมาทำแบบนี้ก็ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวเลยสิ”
“ก็พอลงมารับผิดชอบจริงๆ อย่างร้าน V Café by Voonsentharua นี่ก็ทำกับพี่ พ่อไม่ได้ยุ่ง คือลงทุนเอง ออกแบบเอง ขายเอง ทำเค้กเอง รับพนักงานเอง บางทีแค่เวลาไปทำอะไรข้างนอกนานๆก็เป็นห่วงแล้ว อย่างบางคนถามว่าทำไมต้องทำเค้กตอนกลางคืน ก็ตอนกลางวันมันยุ่งไง เข้าไปทำทีหลายชั่วโมง ทำไปก็เป็นห่วงไป ร้านจะทำทันมั้ย ของจะออกทันมั้ย รับลูกค้าไหวมั้ย สรุป ตอนร้านเปิดก็เลยต้องมานั่งๆเดินๆอยู่แถวนี้ตลอด ถ้าถามว่ายังอยากไปเที่ยวมั้ย ก็อยากนะ แต่ตอนนี้ห่วงร้านมากกว่า ฮ่าๆ”
“มีปัญหาด้านการสื่อสารกับพ่อแม่ไหม?”
“มีสิๆ แต่ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ อย่างเรื่องการใช้ภาษา เคยเถียงกันว่าเวลาจะให้พนักงานบอกลูกค้าให้ไปแลกคูปองว่ายังไง ใช้คำว่า รบกวน ได้ไหม อะไรแบบนี้ แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรนะ ก่อนจะทำอะไรก็จะไปปรึกษาตลอด แต่มีช้อยส์ให้เลือกแค่ 2 ช้อยส์นะ และทั้ง 2 อันเป็นอันที่เราเลือกมาแล้ว ฮ่าๆ”
“งั้นอะไรเป็นปัญหามากที่สุดในการเข้ามารับช่วงกิจการ?”
“เรื่องคนนะตอนนี้ กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะไปเรียนเรื่อง Human Resource Management ดีมั้ย เพราะมีปัญหาเรื่องพนักงานมาก คนอยู่ไม่ค่อยทน พอเป็นงานก็ออก ทั้งๆที่ที่นี่เลี้ยงดีมากเลยนะ มีห้องพักให้ กินฟรีอยู่ฟรี แล้วอย่างผู้หญิงนี่ห้องสองคนเลยนะ ห้องน้ำในตัวด้วย อาหารก็เป็นของจากหน้าร้าน ไม่ใช่ของเหลือ ของใกล้เสีย เราเองตอนเราไปฝึกงานเค้ายังให้เรากินของใกล้จะเสีย หรือใกล้จะเก็บออกตลอดเลย นี่อยู่ดีกินดีมาก”
“อย่างโรงแรมเลยนะเนียะ แล้วคนเก่าที่ทำงานกับรุ่นพ่อรุ่นแม่มา สามารถทำงานร่วมกันต่อเนื่องได้ไหม?”
“ที่นี่มีคนเก่าอยู่ไม่กี่คนเอง ที่เหลือก็จะเป็นพวกเด็กๆที่เวียนไปเวียนมา แล้วก็ถ้าไม่ทันจริงๆก็จะรับเป็นนักเรียนฝึกงานเข้ามาช่วยในช่วงวันหยุดแทน โชคดีว่าคนเก่าๆที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อไม่มีปัญหาอะไรเลย ถึงแม้ว่าเวลาเราสั่งงานจะต้องจ้ำจี้จ้ำไชเยอะกว่าตอนพ่อสั่งนิดหน่อย แต่ที่มีปัญหาจะเป็นพวกผู้ชายเด็กๆ และก็พวกไม่ขยันและไม่พยายามมากกว่า”
“คุณพ่อคุณแม่วางมือรึยัง?”
“แม่เริ่มเข้าหาธรรมะละ สงสัยจะเกษียณตัวเองรึเปล่าไม่รู้ แต่คุณพ่อยังคงทำงานอยู่ แต่งานของพ่อปกติก็ไม่ได้ออกมาดูแลในส่วนของหน้าร้าน จะเป็นส่วนการผลิตมากกว่า ก็จะง่วนต้มนำ้เชื่อม ทำวุ้น ทำลูกช้ิน อะไรอยู่หลังร้านโน่น นี่ก็กำลังทำชิงช้าให้มาแต่งที่ร้านด้วย อย่างรั้วตรงนี้เห็นไหม พ่อเป็นคนเชื่อมเอง ทาสีพื้นเองด้วย การบริหารร้านด้านหน้ากับร้านกาแฟ V cafe นี่ก็เลยเป็นเรากับพี่ชายที่คอยดูแลสลับกันตลอด”
“อนาคต มองภาพตัวเองไว้ว่ายังไง?”
“อยากปรับปรุงร้านให้ทันสมัยมากขึ้น ให้ดูดีขึ้นทันยุคทันสมัย ส่วนเรื่องส่วนตัวก็คิดนะ ว่าถ้าสมมติแต่งงาน ก็ยังอยากทำงานที่นี่ต่อ เหมือนเกิดมาเพื่อตรงนี้ ก็มีความสุขอยู่กับการอยู่ตรงนี้” แล้วคุณหนูหน้าหวานก็ลุกไปเก็บเงินลูกค้าตรงเคาท์เตอร์ต่อ ด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้มเป็นประกาย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร